วันพุธที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2554

ประเพณีลอยโคม

“โคมลอย” ในแง่โคมที่ลอยฟ้านั้น พบใน หนังสืออักขราภิธานศรับท์ Dictionary of the Siamese Language by Dr.B.Bradley Bangkok 1873 หรือพจนานุกรมภาษาสยามที่ ดร.แดน บีช แบรดเลย์ จัดพิมพ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๑๖
         โดยกล่าวว่า “โคมลอย, คือประทีปเครื่องสำหรับจุดไฟในนั้นให้สว่าง, แล้วควันไฟก็กลุ้ม อบ อยู่ในนั้น, ภาโคมให้ลอยขึ้นไปได้,บนอากาศ.”(น.๑๐๕)
         คำอธิบายดังกล่าวนี้สอดคล้องกับพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒ ที่ว่า “ โคมลอย น. ชื่อเครื่องตามไฟชนิดหนึ่งที่จุดไฟแล้วปล่อยให้ลอยไปในอากาศ.”

[แก้ไข] โคมลอย....น้ำ[Image]         แต่เดิมนั้นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 จะมีพิธีลอยกระทงเรียกว่า พระราชพิธีจองเปรียงชักโคม ลอยโคม ซึ่งเป็นพิธีของพราหมณ์ กระทำเพื่อบูชาพระเป็นเจ้าทั้งสาม คือ พระอิศวร พระนารายณ์ และพระพรหม ครั้นคนไทยรับนับถือพระพุทธศาสนาก็ทำพิธี ยกโคม เพื่อบูชา พระบรมสารีริกธาตุ พระจุฬามณี ณ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ลอยโคมบูชาพระพุทธบาท ณ หาดทรายแม่น้ำนัมมทานที ประเทศอินเดีย
         สำหรับการลอยกระทงตามสายน้ำนี้เกิดขึ้นครั้งแรกตามหลักฐานที่บันทึกเอาไว้ว่า นางนพมาศ ซึ่งเป็นสนมเอกของพระร่วงเจ้ากรุงสุโขทัยได้คิดทำกระทงรูปดอกบัวและรูปต่าง ๆ ถวาย พระร่วง ทรงให้ลอยกระทงตามสายน้ำไหลใน หนังสือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ พระร่วงตรัสว่า "แต่นี่สืบไปเบื้องหน้า โดยลำดับกษัตริย์ในสยามประเทศ ถึงกาลกำหนด นักขัตฤกษ์ วันเพ็ญเดือน 12 ให้ทำโคมลอยเป็นรูปดอกบัวอุทิศสักการบูชา พระพุทธบาทนัมฆทานที ตราบเท่ากัลปาวสาน" ครั้นถึง สมัยรัตนโกสินทร์ มีการทำกระทงขนาดใหญ่และสวยงามมีการประกวดประขันกัน
         ลอยโคมลงน้ำ และการ ลอยพระประทีป ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ถือเป็นประเพณีสำคัญประจำเดือนสิบสอง (ประมาณเดือนพฤศจิกายน) ในยุค กรุงรัตน-โกสินทร์ตอนต้น ในเดือนนี้จะมีงานประเพณีที่มีลักษณะใกล้เคียงกันจัดขึ้น 3 งาน ดังนี้

[แก้ไข] พระราชพิธีจองเปรียง ลดชุด ลอยโคมลงน้ำ          เป็นพิธีถวายประทีปบูชาพระเป็นเจ้าทั้งสามตามความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ และต่อมาได้ถือเป็นการบูชาพระบรมสารีริกธาตุจุฬามณีและรอบพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้าในศาสนาพุทธด้วย ซึ่งจะกำหนดยกโคมขึ้นยอดเสาในเดือน ๑๒ (ประมาณเดือนพฤศจิกายน) เป็นเวลาประมาณ ๑ เดือน

[แก้ไข] การลอยพระประทีป          เป็นประเพณีลอยกระทงในพระราชสำนักจัดขึ้นในวันเพ็ญเดือนสิบสองประมาณเดือนพฤศจิกายน) โดยพระเจ้าแผ่นดินจะทรงพระภูษาขาวและทรงธรรมในพระบรมมหาราชวัง ทรงบูชาดอกไม้พุ่มที่หน้าพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และหอพระในพระบรมมหาราชวัง แล้วจึงเสด็จออกที่แพลอย ท่าราชวรดิษฐ์

[แก้ไข] การ ลอยกระทง          เป็นประเพณีของราษฎรโดยทั่วไป มีแนวคิดและขั้นตอนเช่นเดียวกันกับการ ลอยพระประทีป แต่มีความเรียบง่ายและลดรายละเอียดของแบบแผนพระราชพิธีโบราณลง เพื่อให้เป็นไปตามฐานะทางสังคมของแต่ละบุคคล จัดขึ้นในวันเพ็ญเดือนสิบสอง เช่นเดียวกัน กระทงที่จะใช้ลอยสามารถประดิษฐ์เป็นรูปต่างๆ ได้ตามต้องการ เช่น รูปดอกบัวบาน หงส์ เจดีย์ ภูเขา ฯลฯ ซึ่งจะบรรจุดอกไม้ ธูปเทียน แล้วลอยลงน้ำถวายเป็นพุทธบูชา มีการเล่นดอกไม้เพลิง ดอกไม้น้ำ ออกร้าน และมหรสพต่างๆ เช่นเดียวกับการลอยพระประทีป
         ใน สมัยสุโขทัย เดิมมีความเชื่อกันว่า ประชาชน นิยมจัดประเพณีลอยโคม ถือเป็นประเพณีที่ให้ความสนุกสนาน ตาม แม่น้ำทั่วไปเห็นแสงไฟระยิบระยับอยู่ทั่วไปยามราตรี พระร่วงเจ้าแผ่นดินแห่งกรุงสุโขทัย ได้เสด็จประพาสตามลำน้ำเพื่อทอดพระเนตรประเพณีดังกล่าว โดยมีอัครมเหสีและพระสนมฝ่ายในตามเสด็จมากมาย เมื่อนางนพมาศได้เข้ารับราชการในราชสำนักมียศเป็นท้าวศรีจุฬาลักษณ์ จึงได้คิดทำกระทงเป็นรูปดอกบัว เพื่อหวังจะเป็นเครื่องสักการะบูชารอยพระพุทธบาทที่แม่น้ำนัมทานที ตามที่เชื่อกันมา ดังข้อความที่ปรากฏในตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ หรือตำรับทางนพมาศ ได้กล่าวว่า "พอถึงพระราชพิธีจองเปรียงในวันเพ็ญเดือน 12 เป็นวันนักขัตฤกษ์ชักโคมลอยโคม บรรดาประชาชนชายหญิงต่างตกแต่งโคม ชักโคม แขวนโคม ลอยโคมทุกตระกูลทั่วทั้งพระนคร"
         สมัยกรุงศรีอยุธยา เมื่อแผ่นดิน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ มีการจัดพระราชพิธี "จองเปรียงลดชุดลอยโคม" ดังระบุไว้ใน นิราศธารโศก ของ เจ้าฟ้ากุ้ง ว่า...
เดือนสิบสองถ่องแถวโคม       แสงสว่างโพยมโสมนัสสา
เรืองรุ่งกรุงอยุธยา         วันทาแล้วไปเห็น
         ส่วนจดหมายเหตุราชทูตลังกาที่เข้ามาในสมัย พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ก็ได้ระบุในราชพิธีดังกล่าว ความว่า " ก่อนอรุณ มีข้าราชการไทยสองคนลงมาบอกราชทูตานุทูตว่า ในค่ำวันนั้นได้มี กระบวนแห่เสด็จพระราชดำเนินทางชลมาคร ในการพระราชพิธีฝ่ายศาสนา กระบวนเสด็จผ่านที่พักราชทูตมากระบวนพิธีที่ทูตานุทูตได้เป็นมีดังนี้ คือ ตามบรรดาริมน้ำทั้งสองฟากทุกวัด ต่างปักไม้ไผ่ลำยาวขึ้นเป็น เสาโนม์ ปลายไม้ลงมาผูกเชือกชักโคมต่างๆ ครั้นได้เวลาพระเจ้ากรุงศรีอยุธยาเสด็จโดยกระบวน พร้อมด้วยกรมพระราชวังบวรสถานมงคล สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ และเจ้าพระมหาอุปราช เรือทีเสด็จล้วนปิดทองมีกันยาดาดสี และผูกม่านในลำเรือปักเชิงทอง เงิน มีเทียนจุดตลอดลำ มีเรือข้าราชการ ล้วนแต่แต่งประทีปแห่นำตามเสด็จด้วยเป็นอันมาก ในพระราชพิธีนี้ยังมีโคมกระดาษทำเป็นรูปดอกบัวสีแดงบ้างสีขาวบ้าง มีเทียนจุดอยู่ในนั้น ปล่อยลอยตามลำน้ำลงมาเป็นอันมาก และมีรำบำดนตรีเล่นมาในเรือนั้นด้วย "
         สมัย กรุงรัตนโกสินทร์ พิธีนี้ยังคงนิยมทำกันเป็นการใหญ่ มีหลักฐานปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่ง เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) กล่าวไว้ว่า "ครั้นมาถึงเดือน 12 ขึ้น 14 ค่ำ 15 ค่ำ แรมค่ำหนึ่ง พิธีจองเปรียงนั้นเดิมได้โปรดให้พระบรมวงศานุวงศ์ ฝ่ายหน้า ฝ่ายใน และข้าราชการที่มีกำลังพาหนะมากทำกระทงใหญ่ ผู้ถูกเกณฑ์ต่อเป็นถังบ้าง เป็นแพหยวกบ้าง กว้าง 8 ศอกบ้าง 9 ศอกบ้าง กระทงสูงตลอดยอด 10 - 11 ศอก ทำประกวดประชันกันต่าง ๆ กัน ฯ "
         การทำกระทงใหญ่ในลักษณะดังกล่าวมานี้ น่าจะมีมาตั้งแต่ รัชกาลที่ 1 จนถึง รัชกาลที่ 3 ครั้นมาถึง รัชกาลที่ 4 ทรงเห็นว่าเป็นการสิ้นเปลือง จึงโปรดให้ยกเลิกเสีย และโปรดให้พระบรมวงศานุวงศ์ทำเรือลอยพระประทีปแทนกระทงใหญ่ถวายองค์ละลำ เรียกว่า " เรือลอยพระประทีป " ต่อมา รัชกาลที่ 5 และ รัชกาลที่ 6 ได้ทรงฟื้นฟูพระราชพิธีนี้ขึ้นอีก ในปัจจุบันนี้การลอยพระประทีปของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงกระทำ เป็นการส่วนพระองค์ตามพระราชอัธยาศัย แต่พิธีของชาวบ้านยังทำกันอยู่เป็น ประจำ

[แก้ไข] โคมลอย....ฟ้า[Image]         เป็นโคมที่มีรูปทรงต่าง ๆ ทำจากวัสดุ เช่น กระดาษ ผ้า (ยกเว้นวัสดุสังเคราะห์ เช่น โฟม หรือพลาสติก) อาจตกแต่งลวดลายโดยการตัดแปะด้วยสัสดุอื่น เช่นกระดาษบาง ๆ หรือแต่งสี มีไส้หรือเชื้อเพลิงอยู่ด้านล่าง ใช้สำหรับจุดไฟเพื่อให้โคมลอยขึ้นไปในอากาศ เมื่อจุดไส้หรือเชื้อเพลิงแล้วโคมจะลอยได้
         ชาวบ้านที่นับถือพระพุทธศนา พอถึงเทศกาลวันเพ็ญเดือนสิบสอง ชาวบ้านจะทำโคมลอยไปถวายวัดแล้วจุดเป็นพุทธบูชา หรือบูชา พระเกศแก้วจุฬามณี บนสวรรค์
         สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ใน พระราชพิธีสิบสองเดือน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์เมื่อปีชวด พ.ศ. 2431 นั้น มีข้อความส่วนที่ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์อธิบายศัพท์แผลงว่า
         “โคมลอย” มีความหมายเดียวกับ “โพยมยาน” และโพยมยาน แปลมาจาก air ship คือยานที่ลอยไปในอากาศได้โดยใช้อากาศร้อนหรือแก๊สที่เบากว่าอากาศยกเอายานนั้นลอยไปได้ แต่เมื่อเทียบกับคำแปลของ หมอแบรดเลย์ แล้ว “โพยมยาน”ในที่นี้น่าจะหมายถึง balloon มากกว่า ยิ่งในคำอธิบายในหน้า ๖๔๓ ที่ว่า “โคมลอย” ในที่นี้ “…มาแต่หนังสือพิมพ์ตลกของอังกฤษที่ชื่อว่า ฟัน (Fun-ผู้เขียน) ที่ใช้รูปโคมลอยอยู่หลังใบปก หนังสือพิมพ์นั้นเล่นตลกเหลวไหลไม่ขบขันเหมือนหนังสือพิมพ์ตลกอย่างอื่น คือ ปันช เป็นต้น จึงเกิดคำติกัน เมื่อใครเห็นเล่นตลกไม่ขบขัน จึงว่าราวกับหนังสือพิมพ์ฟัน บ้างว่าเป็นโคมลอย (เครื่องหมายของหนังสือนั้น) บ้างจะพูดให้สั้นจึงคงไว้แต่”โคม”…” จากประเด็นดังกล่าวนี้ “โคมลอย”ตามนัยของพระราชพิธี ๑๒ เดือน กับนัยของหนังสืออักขราภิธานศรัพท์แม้จะดูเหมือนว่าไม่ตรงกัน แต่ก็พอจะอธิบายให้เห็นได้ว่าเป็นวัตถุทรงกลมที่อาศัยความร้อนที่กักไว้ภายในพยุงให้ลอยไปในอากาศได้
         โคมลอยฟ้าจะลอยกันในตอนกลางคืน เรียกว่าการปล่อยโคม ซึ่งมี 2 ลักษณะ คือ
โคมไฟ หรือ “ว่าวไฟ” เป็นการจุดไฟไว้ในโคม พอจุดไฟก็เกิดเป็นความร้อน ทำให้อากาศลอยตัวสูงขึ้น โคมก็จะลอยสู่ท้องฟ้า โคมลม อันนี้จะใช้ควันอันเข้าไป ให้โคมลอยขึ้นสูง ชาวบ้านจะมาช่วยกันทำโคมและต่างคนต่างปล่อย จำนวนโคมที่ลอยขึ้นฟ้าก็มีไม่มากเท่าทุกวันนี้ซึ่งมีการเชิญชวนกันมาก ๆ เข้า          ที่เรียก “ว่าวไฟ” ว่าเป็น ”โคมลอย” นั้นเรียกมาแต่สมัยหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อทหารไทยมาประจำการในล้านนาทางภาคเหนือ พอเห็น “ว่าวฅวัน” หรือ “ว่าวไฟ” ลอยขึ้นฟ้า ก็เรียกว่าสิ่งนั้นคือ ”โคมลอย”
         การลอยโคม ของชาวล้านนาทางภาคเหนือ ถือเป็นการบูชาองค์พระธาตุจุฬามณี ที่อยู่บนสรวงสวรรค์อีกด้วย ส่วนการลอยกระทงในน้ำนั้น ได้รับอิทธิพลจากสุโขทัย โดยวัฒนธรรมการลอยกระทง เพื่อบูชา พระแม่คงคา ตามความเชื่อของคนไทยภาคกลาง
         สรุป ได้ว่า โคมลอย ก็คือกระทงทรงประทีป หรือกระทงที่รองรับประทีปซึ่งจุดไฟแล้วปล่อยให้ลอยไปตามสายน้ำ เมื่อดูจาก พระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จัดพิมพ์โดยแพร่พิทยา ฉบับที่พิมพ์ครั้งที่สิบสาม พ.ศ. ๒๕๑๔ ทรงกล่าวว่า “.. การที่ยกโคมขึ้นนั้นตามคำโบราณกล่าวว่ายกขึ้นเพื่อบูชาพระเป็นเจ้าทั้งสามคือ พระอิศวร พระนารายณ์ พระพรหม การซึ่งว่าบูชาพระเป็นเจ้าทั้งสามนี้เป็นต้นตำราแท้ในเวลาถือไสยศาสตร์ แต่ครั้นเมื่อพระเจ้าแผ่นดินทรงนับถือพระพุทธศาสนาก็กล่าวว่าบูชาพระบรมสารีริกธาตุพระจุฬามณีในดาวดึงส์พิภพ และบูชาพระพุทธบาทซึ่งปรากฏอยู่ ณ หาดทรายเรียกว่า นะมะทานที เป็นที่ฝูงนาคทั้งปวงสักการบูชาอยู่..” (น.๙) ก็เป็นอันว่า “โคมลอย” ของนางนพมาศนั้นลอยน้ำ แต่ ”โคมลอย” ของพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 นั้น ลอยฟ้า และ “โคมลอย” ของภาคกลางนั้นทำได้ทั้งลอยฟ้าและลอยน้ำ โดยจุดประทีปโคมไฟให้ลอยไปตามน้ำเพื่อบูชารอยพระพุทธบาทในนาคพิภพ และยกโคมขึ้นให้สูงเพื่อบูชาพระเกศแก้วจุฬามณี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น